เตือนภัย 15 โรคติดต่อ ที่มาพร้อมกับฤดูฝน
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในฤดูกาลนี้ เป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิด สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ควรดูแลและป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน ซึ่งมี 5 กลุ่ม รวมทั้งหมด 15 โรค ได้แก่
1.กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ
2.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนังที่พบบ่อย คือ โรคเลปโตสไปโรซิส หรือไข้ฉี่หนู อาการเด่นคือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง
3.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม
4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่
4.1 ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน
4.2 ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) มียุงรำคาญ มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนาเป็นตัวนำโรค
4.3 โรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่า เป็นพาหะนำโรค
5.โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก กระเด็นเข้าตา
นอกจากนี้ ในช่วงหน้าฝนต้องระวังอีก 2 เรื่อง คือ ปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนานๆ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ถ้าเกาจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองออก และอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่องที่หนีน้ำมาอาศัยในบริเวณบ้าน ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระวังคือการรับประทานยาลดไข้ เช่น ยาในกลุ่มแอสไพริน ห้ามกินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรคที่สำคัญ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายอยู่แล้ว หากได้รับยาแอสไพริน ซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไปอีก จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ทำให้เสียชีวิตได้ง่ายขึ้น
ในการป้องกันโรคในฤดูฝน ขอให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ อยู่แล้ว ต่ำลงไปอีก จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ควรดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้ม รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
แนะวิธีดูแลสุขภาพในช่วงหน้าฝน
วิธีการดูแลสุขภาพในช่วงหน้าฝน คุณสามารถทำได้ โดยให้เน้นการออกกำลังอย่างน้อยวันละ 30 นาที และควรเลือกบริโภคผักและผลไม้ที่ให้วิตามินสูง ซึ่งจะช่วยป้องกันไข้หวัดได้ดี
ช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวก็ร้อนมาก เดี๋ยวก็ฝนตกเพราะฉะนั้นควรหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสภาพต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศได้ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดเพราะหากป่วยเป็นไข้หวัดและไม่มีการดูแลสุขภาพที่ดี อาจส่งผลให้กลายเป็นโรคหลอดลมอักเสบและโรคปอดบวมได้ในที่สุด และสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่น และควรที่จะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง แล้วยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคอีกด้วย การออกกำลังกายสามารถทำได้หลายวิธี เช่นการเต้นแอโรบิค การเดินเร็วๆ การวิ่งเหยาะ การขี่จักรยาน หรือการเล่นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง และการออกกำลังกายที่เหมาะสม คือ การออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 5 วัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที แค่นี้ก็เพียงพอ ที่จะเกิดภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
การเริ่มต้นออกกำลังกาย ควรเริ่มจากเบาๆ ระยะเวลาน้อยๆ ก่อนแล้วค่อยเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์เพื่อให้ร่างกาย ปรับตัว จากนั้นจึงเพิ่มความแรงหรือความหนัก และย้ำว่าไม่จำเป็นต้องหนักหรือเหนื่อยมาก การออกกำลังกายมากเกินไปโดยเฉพาะในอากาศที่ร้อนจัด จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้ง่าย และเป็นโรคที่อันตรายมาก ผู้ป่วยจะมีอุณหภูมิร่างกายสูงมาก เหงื่อไม่ออก หมดสติ ไต หัวใจ ตับวาย อาจมีเลือดออกทุกอวัยวะ ถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ ระหว่างออกกำลังกาย ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะน้ำที่มีเกลือแร่ด้วย สิ่งสำคัญ ที่ต้องคำนึงถึงนอกจากการออกกำลังกาย คือ การรับประทานอาหาร ควรเน้นการรับประทานผัก ให้หลากหลายทั้งสดและลวก ต้ม ผัด และรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ องุ่น สัปปะรด มะละกอ เป็นต้น เพราะจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ดังนั้น หากเราดูแลสุขภาพตน เองได้ตามข้อปฏิบัติดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยให้มีสุขภาพดีในช่วงหน้าฝนเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลต่อการมีสุขภาพดีในระยะยาวด้วย
ด้วยความปรารถนาดีจาก รพ.อัมพวา
โรคไข้เลือดออก
อาการสำคัญ
– ไข้สูงลอย ประมาณ 39-40°C นาน 2-7 วัน มักมีหน้าแดง ปวดหัว ปวดตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก
– มีหลักฐานเลือดออกง่าย: จุดเลือดออก จ้ำเลือด อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ เลือดออกทางเยื่อบุ ทางเดินอาหาร ตำแหน่งที่ฉีดยา หรืออื่นๆ
– ตรวจพบเกร็ดเลือด < 100,000 รัดแขนพบจุดเลือดออก (Tourniquet test ≥10จุด/ตารางนิ้ว) ตับโต
– มีการรั่วซึมของพลาสมา: ความเข้มข้นเลือดสูงขึ้น ≥ 20% ระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวหรือช็อคมักจะเกิดช่วงไข้ลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากสีเขียว ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ
(ขอบคุณภาพประกอบ internet)
ปัญหาที่พบบ่อย ตัวร้อนมาก หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนรุนแรงควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
– ให้ผู้ป่วยพักผ่อนในที่ๆ มีอากาศถ่ายเทสะดวก
– เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นบ่อยๆ โดยใช้ผ้าชุบน้ำแล้วบิดพอหมาดลูบเบาๆ บริเวณหน้า ลำตัวแขนและขา แล้วพักไว้บริเวณหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ แผ่นอก แผ่นหลังและขาหนีบ สลับกันไปมา ทำติดต่อกันอย่างน้อยนาน 15 นาที แล้วให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าบางๆ นอนพักผ่อน
– ให้รับประทานยาลดไข้ พาราเซตามอล เวลามีไข้สูงหรือปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยให้ห่างกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ห้ามรับประทานยาลดไข้ชนิดอื่น โดยเฉพาะยาแอสไพริน ยาซองลดไข้ทุกชนิดหรือยาพวกไอบรูโพรเฟน เพราะอาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติ หรือตับวายได้
– ห้ามฉีดยาเข้ากล้ามและไม่รับประทานยาอื่นที่ไม่จำเป็น
– ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) หรือน้ำผลไม้ใส่เกลือเล็กน้อย ถ้ามีคลื่นไส้อาเจียนไม่สามารถดื่มได้ ให้จิบครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ไม่ควรดื่มแต่น้ำเปล่าอย่างเดียว
อาหาร ควรเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น นม ไอศรีม ข้าวต้ม เป็นต้น
ควรงดอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือสี น้ำตาล
หมายเหตุ ในระยะไข้สูงของโรคไข้เลือดออก การให้ยาลดไข้ จะช่วยให้ไข้ลงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วไข้ก็จะสูงขึ้นอีก การเช็ดตัวลดไข้ จะช่วยให้ผู้ป่วยสุขสบายขึ้น
– มาพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจติดตามการดำเนินโรค
อาการอันตราย
เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ข้อใดข้อหนึ่งต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
– ผู้ป่วยซึม หรืออ่อนเพลียมาก ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
– คลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา
– ปวดท้องมาก
– มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ
– พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติ
– กระสับกระส่าย หงุดหงิด เอะอะโวยวาย
– กระหายน้ำตลอดเวลา
– ร้องกวนตลอดเวลาในเด็กเล็ก
– ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเป็นเวลานาน
– ตัวเย็นชื้น เหงื่อออก สีผิวคล้ำลง ตัวลายๆ (เข้าสู่ระยะช็อค)
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
– ควรนอนในมุ้ง หรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลาย
– ไม่เล่นในมุมมืด หรือบริเวณที่ไม่มีลมพัดผ่าน
– ห้องเรียน หรือห้องทำงาน ควรมีแสงสว่างส่องทั่วถึง มีลมพัดผ่าน ไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน พลูด่างควรปลูกในดิน
– กำจัดยุงในบริเวณมุมอับภายในบ้าน ตู้เสื้อผ้า บริเวณรอบๆบ้าน ทุกสัปดาห์
– กำจัดลูกน้ำ ภาชนะใส่น้ำภายในบ้านควรปิดฝาให้มิดชิดถ้าไม่สามารถปิดได้ให้ใส่ทรายอะเบท หรือใส่ปลาหางนกยูง จานรองขาตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูหรือผงซักฟอก สัปดาห์ละครั้ง
วัสดุที่เหลือใช้รอบๆบ้าน เช่น กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ฯลฯ ให้คว่ำหรือทำลายเสีย
ข้อสำคัญ ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำส่ง รพ.ทันที
– มีอาการเพลีย ซึม ไม่ดื่มน้ำ ไม่รับประทานอาหาร ไม่มีกิจกรรมตามปกติเมื่อไข้ลง (บางรายจะ กระหายน้ำมาก)
– อาเจียน / ปวดท้องมาก
– เลือดออกผิดปกติ
– มีอาการช็อค / IMPENDING SHOCK คือ
– มือเท้าเย็น
– กระสับกระส่าย ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
– ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย สีผิวคล้ำลง
– ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะ 4-6 ชม.
– ความประพฤติเปลี่ยนแปลง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ เอะอะโวยวาย
เป็นระยะอันตรายของโรค เข้าสู่ระยะช็อค แม้อยู่ในภาวะช็อค ผู้ป่วยจะมีสติดี พูดจารู้เรื่อง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที (กระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำ)
กรณีผู้ป่วยรับการรักษาแล้วแพทย์ให้กลับบ้านได้ ควรดูแลและปฏิบัติตนต่อไปนี้
– ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกไม่ควรให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือดทำให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ หากมีคนในบ้านมีไข้สูง ให้พามาตรวจ
– ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
– ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน หรือ ยากลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโปรเฟน เนื่องจากทำให้เกิดเลือดออกทางเดินอาหารมากขึ้น หรือมีผลต่อตับได้
– กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และที่โรงเรียน